ตั้งคำถามแบบนี้ ใช่ว่าจะชวนทะเลาะนะครับ ฮ่าๆ จริงๆ แล้วผู้เขียนก็มีความคิดไม่ต่างจากผู้อ่านที่อยากจะได้อยากจะมีขนส่งมวลชนคุณภาพดีๆ มาวิ่งวนในเขตเมืองให้ได้โดดขึ้นโดดลงไปไหนต่อไหนไม่ต่างกันครับ เพียงแต่อยากจะชวนพวกเราที่กำลังอ่านบทความนี้ ลองหันกลับมาทบทวนตนเอง และเรื่องราวของขนส่งมวลชนบ้านเราดูสักหน่อยก่อน
บทบาทของระบบขนส่งมวลชนเมืองเชียงใหม่ หากจะให้ย้อนกันไปไกลๆ คงต้องพูดถึงยุคที่เราเริ่มมีรถยนต์ขนถ่ายคน โดยเริ่มจากรถขนหมูราวปีพ.ศ. 2450 ขนส่งผู้คนและสินค้าเข้ามาจากอำเภอรอบนอกเข้าสู่เมือและสามล้อถีบที่เริ่มมีใช้ประมาณปี 2475 ตามมาด้วยรถเมล์ของเอกชนในช่วงปีพ.ศ. 2515- 2541 จากรถเมล์ร้อนสู่รถเมล์แอร์ที่มีเส้นทางวิ่งชัดเจนก่อนจะหยุดวิ่งไปในท้ายที่สุด การหายหน้าไปของรถเมล์ ขนส่งสาธารณะที่มีเส้นทางวิ่งชัดเจนที่คนตั้งแต่เจนเนอร์เรชั่น x ขึ้นไป อาจเรียกได้ว่าเป็นช่วง ‘สุญญากาศ’ ก็น่าจะพอได้ ซึ่งกินเวลายาวนานร่วม 20 ปีเลยทีเดียว
เพราะถึงแม้ทุกวันนี้เราจะมีรถสี่ล้อแดงร่วม 2,600 คัน และตุ๊กตุ๊กที่วิ่งกันให้ขวัก กับรถเมล์ขาวของเทศบาลฯ ที่วิ่งตะบึงกันอยู่ประมาณ 5-6 คัน แต่หากให้ถามกันแบบจริงๆ จังๆ ถึง ‘ความเชื่อมั่น’ และความ ‘ถูกใจ’ ของผู้ใช้ ว่าสิ่งที่เรามีอยู่ตอนนี้ มันเร้าใจพอจะเชื้อเชิญให้เราทุกคนเลิกใช้รถส่วนตัว แล้วหันมาใช้ขนส่งมวลชนที่เรามีกันอยู่ในวันนี้หรือไม่?
เชื่อว่าพวกเราส่วนใหญ่...มีคำตอบอยู่ในใจกันเรียบร้อยแล้ว
ด้วยเหตุผลต่างๆ ที่เราพร้อมจะยกกันขึ้นมายืนกรานเพื่อจะยังใช้รถส่วนบุคคลกันต่อไป คงจะหนีไม่พ้นเรื่องของความสะดวกสบาย และคุณภาพของรถสาธารณะที่มีอยู่ตอนนี้ ซึ่งยังไม่สามารถตอบโจทย์วิถีการเดินทางของเราได้ตรงใจ
แต่หากใครติดตามข่าวในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมาคงจะทราบถึงความหวังครั้งใหม่ ที่เหมือนจะเป็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์พาเราออกพ้นจากปัญหาการจราจรอันติดขัด และการไม่มีระบบขนส่งมวลชนที่มีคุณภาพ ด้วยขณะนี้มีภาคเอกชนทั้งกลุ่มคนเชียงใหม่เอง และนักลงทุนจากทั่วประเทศได้เริ่มขยับ รุกเข้ามาลงทุนกับระบบขนส่งมวลชนในบ้านเรากันแล้ว เจ้าแรกคือ รถไฟฟ้าจากกลุ่ม CSE (Chiang Mai Social Enterprise) ให้บริการรถไฟฟ้าขนาดเล็กจุได้ราวๆ 12 คน เน้นกลุ่มนักท่องเที่ยว และมีเส้นทางวิ่งภายในพื้นที่เมืองเก่าเชียงใหม่ โดยช่วงแรกให้บริการ 4 คัน อีกกลุ่มคือ CM Transit หรือ RTC Bus (Reginal Transit Corporation) จากบริษัท รีเจียนนอล ทรานซิส คอร์เปอร์เรชั่น จำกัด ให้บริการด้วยรถบัสขนาดใหญ่ จุผู้โดยสารได้ 60-70 คน มีเส้นทางวิ่งจากจุดจอดสนามบินเชียงใหม่วนผ่านสถานที่สำคัญรอบเมือง โดยทั้งสองโครงการจะเปิดวิ่งให้บริการอย่างเป็นทางการในช่วงต้นเดือนเมษายน ศกนี้
COMPASS จึงขอนำบทสัมภาษณ์ของผู้บริหารบริษัทรถทั้ง 2 บริษัทมาให้ทุกท่านได้รับรู้รับทราบถึงรายละเอียดของรถและการให้บริการ เพื่อเตรียมตัวออกไปทดลองใช้งานกันให้หนำใจ แล้วอย่าลืมกลับมาถามตัวเองใหม่อีกซักรอบว่า ‘เมื่อเรามีระบบขนส่งมวลชนที่เป็นทางเลือกใหม่เพิ่มขึ้นอย่างนี้แล้ว เราพร้อมที่จะเปลี่ยน!! หรือลดการใช้รถส่วนบุคคล แล้วหันมาใช้ขนส่งมวลชนกันได้หรือยัง?’ เพื่อช่วยคลี่คลายปัญหาการจราจร และเพื่อสภาพแวดล้อมของเมืองเชียงใหม่ของเรา
CM TRANSIT
อนาคตขนส่งมวลชน เพื่อเมืองเชียงใหม่ที่ดีกว่า
แวบแรกที่เห็นรถบัส CM Transit หรือ RTC Bus คำถามที่ผุดขึ้นมาแบบไม่ต้องกรองความคิดจะประมาณว่า ‘นี่คันมันไม่ใหญ่ไปหน่อยเรอะ’ แต่พอได้ทดลองใช้แล้วมานั่งทบทวนดู ก็ทำให้หวลนึกถึงประสบการณ์การทดลองใช้รถขอนแก่น ซิตี้บัส เมื่อปลายปีที่แล้ว (รถสมาร์ทบัสขนาดเดียวกัน และมาจากผู้ลงทุนรายเดียวกัน อีกทั้งถนนขอนแก่นก็ขนาดไม่ต่างจากบ้านเรา) ที่พอใช้แล้วรู้สึกอิจฉาชาวขอนแก่นอยู่ในที และแอบหวังว่าคงจะมีสักวันที่เชียงใหม่จะมีรถบัสแบบนั้นมาวิ่งให้บริการบ้าง แม้อาจจะต้องรอไปอีกเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ แต่ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ!! ว่าวันนั้นจะมาถึงเร็วเกินคาด เดือนเมษายนนี้เราจะมีรถสมาร์ทบัสแบบเดียวกันเดะให้ใช้กันแล้ว ลองไปฟังสเป็คของรถ และเป้าหมายจากผู้บริหาร RTC Bus กันดูครับ
“สิ่งแรกที่เรามองเห็นเชียงใหม่ คือ เมืองนี้มีศักยภาพมาก และกำลังโตอย่างรวดเร็ว แต่ปัจจัยที่ยังขาดในการสนับสนุนให้เมืองเติบโตได้อย่างยั่งยืนคือ ระบบขนส่งมวลชนที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งจากประสบการณ์การให้บริการระบบขนส่งมวลชนที่ขอนแก่น และภูเก็ต มาแล้ว ทำให้เราเชื่อมั่นว่า CM Transit Bus จะเป็นหนึ่งในขนส่งทางเลือกที่จะมีส่วนช่วยพัฒนาเมืองให้เติบโตได้เต็มประสิทธิภาพ และช่วยแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดภายในเขตเมืองเชียงใหม่ได้เป็นอย่างดี ด้วยรถของเราเป็นสมาร์ทบัสปรับอากาศ รองรับผู้โดยสารทั้งนั่ง และยืนได้ 70 คน มีจำนวนรถถึง 10 คัน ออกจากสถานีทุกๆ 20 นาที ซึ่งน่าจะช่วยขนส่งผู้คน และลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลไปได้มาก
สำหรับตัวรถมีความยาวอยู่ที่ 10.5 เมตร หลายคนอาจจะมองว่ารถคันใหญ่ไปรึเปล่า สำหรับเมืองเชียงใหม่ ทางเราได้พิจารณา และทดลองวิ่งแล้วพบว่า รถบัสสเป็คนี้น่าจะตอบโจทย์คนเชียงใหม่ได้ดีที่สุด เพราะแม้จะเป็นรถที่มีขนาดใหญ่แต่วงเลี้ยวที่คำนวณทางวิศวกรรมแล้วแตกต่างจากรถบัสขนาดเล็กไม่มาก แต่ทว่าให้ความคุ้มค่ามากกว่า ด้วยลักษณะของพื้นรถเป็นแบบ Low Floor (พื้นเตี้ย) ทำให้ผู้สูงอายุ เด็ก และคนพิการขึ้นลงได้สะดวกกว่า และมีความนิ่งและนิ่มขณะวิ่ง ซึ่งคุณสมบัติเหล่านี้รถบัสขนาดเล็กให้ไม่ได้
รถบัส CM Transit Bus เป็นรถสมาร์ทบัส ภายในรถมีไวไฟให้ใช้ฟรี ซึ่งผู้ที่ต้องการใช้บริการสามารถติดตามรถได้จาก Application บนมือถือ ทั้งระบบ IOS และ Android ทำให้สามารถคำนวณเวลาการมาถึงของรถโดยไม่ต้องไปยืนรอนานๆ และมีระบบการชำระค่าโดยสาร โดยใช้บัตรสมาร์ทคาร์ทที่สะดวกสบาย และในอนาคตทางบริษัทมีแผนจะเชื่อมโยงสมาร์ทคาร์ทไปกับบริการอื่นๆ อีกด้วย” สุรเดช ทวีแสงสกุลไทย ที่ปรึกษา บริษัท รีเจียนนอล ทรานซิส คอร์เปอร์เรชั่น จำกัด (RTC) ได้ให้รายละเอียดของรถบัสใหม่ล่าสุดเอาไว้อย่างน่าสนใจ โดยมีนักธุรกิจชาวเชียงใหม่และเป็นหนึ่งในที่ปรึกษาบริษัท ‘ไมตรี อรรถปรียางกูร’ ได้เพิ่มเติมข้อมูลเกี่ยวกับรถบัส CM Transit Bus และให้ความคิดเห็นในฐานะคนเชียงใหม่ไว้ดังนี้
“รถบัส CM Transit Bus เป็นรถ NGV ที่เราเลือกใช้ NGV ก็เพราะเห็นว่าเมืองเชียงใหม่ประสบปัญหาเรื่องมลภาวะทางอากาศมาตลอด โดยเฉพาะควันเสียจากการใช้ยานพาหนะในเขตเมือง ซึ่งก็มาจากรถของพวกเรากันเองนี่แหละ การใช้ NGV จึงมั่นใจได้ว่ารถบัสจะมีส่วนช่วยลดควันเสีย และช่วยสภาพแวดล้อมของเมืองเราให้ดีขึ้น
สำหรับเส้นทางการวิ่ง เราออกแบบให้วิ่งเป็นวงรอบเมือง โดยมีจุดจอดอยู่ใกล้ๆ ประตู 1 ของสนามบินนานาชาติเชียงใหม่ ซึ่งตรงนี้จะช่วยทำให้เกิดการเชื่อมโยงเมืองกับสนามบินได้สะดวกขึ้น ลดปัญหาเรื่องการจราจรติดขัดกับพื้นที่จอดรถในสนามบินได้มากทีเดียว แถมอำนวยความสะดวกให้ทั้งนักท่องเที่ยว และคนเชียงใหม่ที่จะเดินทางทั้งไปสนามบิน และสถานที่สำคัญรอบเมือง ไม่ว่าจะเป็นย่านเมืองเก่า ย่านวัวลาย ประตูท่าแพ ย่านสวนดอก และนิมานเหมินท์ ซึ่งเป็นเส้นทางวิ่งของรถสายแรก
รถจะใช้เวลาวิ่งครบวงรอบอยู่ที่ 55 นาที และในช่วงรถติดกับชั่วโมงเร่งด่วนจะใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง 10 นาที เราวางแผนว่าจะมีสถานีจอดรถจุดหลักๆ 3 จุด คือ สถานีสนามบินฯ สถานีเมืองเก่า และสถานีนิมานเหมินท์ และมีจุดจอดรถอีกราวๆ 20 จุด ซึ่งจะมีการเพิ่มในอนาคตอีก สนมราคา 20 บาทตลอดสาย
ในฐานะคนเชียงใหม่ ผมอยากเชิญชวนให้ทุกท่านมาทดลองใช้รถบัส CM Transit Bus และอยากจะบอกว่า การเกิดขึ้นของระบบขนส่งมวลชนสาธารณะครั้งนี้ เป็นโอกาสสำคัญในการเปลี่ยนเมือง ที่พวกเราทุกคนจะมีส่วนร่วมได้ทันที เพราะเมื่อมีระบบขนส่งที่มีคุณภาพแล้ว และมีผู้ใช้ ไม่นานเราจะเห็นการเปลี่ยนแปลงเช่นเดียวกับหลายๆ เมืองที่ผู้คนหันมาใช้ระบบขนส่งมวลชนกันเป็นกิจวัตร เมืองจะค่อยๆ ดีขึ้น ซึ่งนั่นก็หมายความว่า มันดีกับคุณภาพชีวิตของเราเองด้วยครับ”
ได้ฟังเช่นนี้แล้วก็อย่ารอช้าเลยครับชาวเชียงใหม่ มาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของความเปลี่ยนแปลงด้วยกันเถอะครับ เพราะสิ่งที่เราเรียกร้องกันมานาน ศึกษาวิจัย และถกเถียงกันมาก็มาก ในที่สุด ‘ระบบขนส่งมวลชนสาธารณะ’ ก็ได้เกิดขึ้น (ใหม่) แล้วในวันนี้
ทีนี้ก็อยู่ที่พวกเราแล้วล่ะครับ ว่าจะพร้อมเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีกว่าร่วมกันหรือไม่ ชวนกันออกไปใช้ สนับสนุนรถเมล์สาธารณะ เพราะนั่นคือหนึ่งในหนทางที่ชาวเชียงใหม่จะมีส่วนร่วมสร้างเมืองเชียงใหม่ให้น่าอยู่เหมือนที่เคยฝันให้เกิดขึ้นจริงครับ
คอลัมน์แนะนำ

8 เมษายน Let’s Salsa
City in Brief : เมษายน 2561
.jpg)
DIASPORA: Exit, Exile, Exodus of Southeast Asia
City in Brief : เมษายน 2561

MANIC STREET PREACHERS
City in Brief : เมษายน 2561